ในการดำเนินงานขององค์กรให้บรรลุตามเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงที่ได้ตั้งเอาไว้ ซึ่งต้องอาศัยการทำความเข้าใจร่วมกันในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งความสามารถของผู้บริหาร ความร่วมมือจากบุคลากรภายในองค์กร จึงจะทำให้องค์กรสามารถบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การจัดการการเปลี่ยนแปลงมักจะได้รับการต่อต้านจากบุคลากรในองค์กร ผู้บริหารองค์กรในฐานะที่เป็นผู้นำในการบริหารการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในองค์กร ต้องเข้าใจธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลง กระบวนการบริหารเปลี่ยนแปลง และการวางบทบาทในการจัดการการเปลี่ยนแปลงซึ่งต้องสามารถตัดสินใจเลือกวิธีการที่เหมาะสม มาใช้ในการบริหารการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ได้แก่ กลยุทธ์ในการบริหาร 3 ขั้นตอน ต่อไปนี้
- ขั้นตอนการละลายพฤติกรรมเดิมขององค์กร (Unfreeze) ละลายรูปแบบพฤติกรรมขององค์กร ระบบเดิมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จัดสภาพแวดล้อมใหม่ให้รู้สึกมั่นคง การจูงใจในเชิงบวก โดยการกำหนดค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กร และจัดสร้างกระบวนการไปสู่การปฏิบัติที่วางไว้ เพื่อกระตุ้นบุคลากรในองค์กรให้ปรับตัวตามเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ โดยในช่วงนี้จะใช้เวลาประมาณ 1-3 ปี โดยเริ่มจากการจัดตั้งและพัฒนากลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลงระยะที่ 1 (Change Agent) ด้วยการกำหนดบทบาทเพื่อช่วยขับเคลื่อนองค์กร กระบวนการ และโครงการนำร่อง (Pilot Projects) เพื่อทดสอบระบบการเปลี่ยนแปลงจนสามารถขยายผลได้ทั่วทั้งองค์กร
- ขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความท้าทาย (Transition) เปลี่ยนพฤติกรรม พัฒนาความสามารถ เสริมความชำนาญให้มีประสิทธิภาพ การทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้พฤติกรรมใหม่โดยการนำเป้าหมายองค์กรทั้งวิสัยทัศน์ พันธกิจ แผนยุทธศาสตร์ มากำหนดเป็นคุณค่าองค์กร (Value Proposition) และขับเคลื่อนตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในกระบวนการในการบริหารการเปลี่ยนแปลง โดยพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ มักจะใช้เวลาในช่วงนี้ประมาณ 3-5 ปี จนสามารถวัดผลการดำเนินการได้
- ขั้นตอนการผนึกแข็งรูปลักษณ์องค์กรใหม่ (Refreeze) มุ่งให้พฤติกรรมใหม่ที่ได้เปลี่ยนแปลงแล้วดำรงอยู่อย่างมั่นคงและท้าทายการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง โดยเทียบเคียงกับผู้เป็นเลิศ (Best Practice Benchmark) ด้วยการทบทวนวิสัยทัศน์ พันธกิจขององค์กร เพื่อเป็นเป้าหมายใหม่ในการบริหารการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัต (Dynamics)