ในการดำเนินงานตามโครงการหรือการบริหารโครงการไม่ว่าจะเป็นโครงการของรัฐรัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนก็ตาม จะต้องมีการวางแผนโครงการโดยกำหนดเป็นวัตถุประสงค์และเป้าหมายไว้ เพื่อคาดหวังผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นภายหลัง การประเมินผลโครงการจึงมีบทบาทเพื่อสนับสนุนหรือยกเลิก ให้ทราบถึงความก้าวหน้าของการปฏิบัติงานตามโครงการ ปรับปรุงงาน ศึกษาถึงทางเลือก หรือเพื่อการขยายผล
การประยุกต์ใช้แนวทาง CIPP Model ของสตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam’s CIPP Model) ในการประเมินแผนงานโครงการ โดยได้แบ่งประเด็นการประเมินผลออกเป็น 4 ประเภท คือ
การประเมินด้านบริบทหรือสภาวะแวดล้อม (Context Evaluation: C)
เป็นการประเมินให้ได้ข้อมูลสำคัญ เพื่อช่วยในการกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการ ความเป็นไปได้ของโครงการ เป็นการตรวจสอบว่าโครงการที่จะทำสนองปัญหาหรือความต้องการจำเป็นที่แท้จริงหรือไม่ วัตถุประสงค์ของโครงการชัดเจน เหมาะสม สอดคล้องกับวัตถุประสงค์จัดตั้ง ยุทธศาสตร์องค์การมหาชน หรือยุทธศาสตร์กระทรวงต้นสังกัดหรือไม่ เป็นโครงการที่มีความเป็นไปได้ในแง่ของโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่าง ๆ หรือไม่ เป็นต้น
การประเมินปัจจัยเบื้องต้นหรือปัจจัยป้อน (Input Evaluation: I)
เป็นการประเมินเพื่อพิจารณาถึง ความเป็นไปได้ของโครงการ ความเหมาะสม และความพอเพียงของทรัพยากรที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ เช่น งบประมาณ บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ เวลา รวมทั้งเทคโนโลยีและแผนการดำเนินงาน เป็นต้น
การประเมินกระบวนการ (Process Evaluation: P)
เป็นการประเมินความสำเร็จของการดำเนินโครงการ เช่น การตรวจสอบกิจกรรม เวลา ทรัพยากรที่ใช้จริงในโครงการ ภาวะผู้นำ การมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการ
การประเมินผลผลิต (Product Evaluation: P)
เป็นการประเมินเพื่อเปรียบเทียบผลผลิตที่เกิดขี้นกับวัตถุประสงค์ของโครงการ หรือความต้องการ/ เป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมทั้งการพิจารณาในประเด็นของการยุบ เลิก ขยาย หรือปรับเปลี่ยนโครงการและการประเมินผล เรื่องผลกระทบ (Impact) และผลลัพธ์ (Outcomes ) ของนโยบาย / แผนงาน / โครงการ โดยอาศัยข้อมูลจากการประเมินสภาวะแวดล้อม ปัจจัยเบื้องต้นและกระบวนการร่วมด้วย