วัฒธรรมองค์กรไม่ใช่ระบบงานที่สร้างโดยผู้บริหารระดับสูงแล้วกระจายลงสู่ระดับที่ต่ำกว่า แต่เป็นพฤติกรรมในองค์รวม ซึ่งเป็นภาพสะท้อนมาจากค่านิยม (Value) ที่ยึดถือร่วมกันในหมู่พนักงานไปจนถึงผู้นำสูงสุดในองค์กร เสมือนเป็นค่านิยมของแต่ละคน (Personal value) ร้อยเรียงกันจนกลายเป็นค่านิยมองค์กร (Corporate value) ดังนั้น การประเมินความคืบหน้าของมันจึงไม่สามารถวัดจากค่าสถิติต่างๆ แต่ต้องอาศัยความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าอะไรเป็นตัวแปรสำคัญที่คอยกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจที่ทำให้เกิดการเบี่ยงเบนความเชื่อและพฤติกรรมออกไปจากแนวทางที่องค์กรคาดหวัง เพื่อคิดหาวิธีการเติมเต็มตัวแปรใหม่ที่เหมาะสมทดแทนต่อไป
แนวคิดในการวิเคราะห์และประเมินบุคลิกภาพ (Character) ขององค์กร เพื่อระบุหาจุดอ่อนที่แฝงอยู่ในค่านิยม ความเชื่อ และพฤติกรรมโดยรวมของพนักงาน ซึ่งหล่อหลอมจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร สามารถจำแนกออกได้เป็น 7 ระดับ ได้แก่
ระดับที่ 1 Financial Stability (Surviving) – มุ่งเน้นความอยู่รอด ความมั่นคงทางการเงิน ผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น
ระดับที่ 2 Customer Satisfaction (Conforming) – มุ่งเน้นบรรกาศที่เอื้อต่อความสัมพันธ์ที่ดีทั้งกับลูกค้าและพนักงาน ความรู้สึกเป็นเจ้าขององค์กรร่วมกัน
ระดับที่ 3 Best Practices (Differentiating) – มุ่งเน้นมาตรฐาน ระบบงาน ประสิทธิภาพและคุณภาพของงาน
ระดับที่ 4 Continuous Improvement (Individuating) – มุ่งเน้นการกระจายอำนาจการตัดสินใจ เคารพความคิดเห็น ความรับผิดชอบต่อส่วนรวม
ระดับที่ 5 Shared Vision (Self Actualizing) – มุ่งเน้นการสร้างวิสัยทัศน์ ค่านิยม และเป้าหมายอนาคตร่วมกัน
ระดับที่ 6 Collaboration (Integrating) – มุ่งเน้นความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สังคม และสิ่งแวดล้อม
ระดับที่ 7 Long-Term Viability (Serving) – มุ่งเน้นการประสานงานร่วมกับองค์กรภายนอก ผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ เพื่อประโยชน์ต่อทั้งธุรกิจและสังคมส่วนรวมในระยะยาวอย่างยั่งยืน
องค์กรที่ประสบความสำเร็จจะต้องรักษาสมดุลของวัฒนธรรมในทุกระดับได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดความมั่นคงของ บรรยากาศของความเชื่อมั่น (Climate of Trust) และความสามารถทางการแข่งขัน ในทุกสถานการณ์