ลายนิ้วมือ (Fingerprint) คือ ลายเส้นนูนที่ปรากฏอยู่บนผิวหนังด้านหน้าของนิ้วมือ ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละคน โดยเริ่มปรากฏขึ้นตั้งแต่อยู่ในช่วงอายุทารกประมาณ 3-4 เดือน ขณะที่อยู่ในครรภ์มารดา และจะไม่เปลี่ยนแปลงเลยตลอดชีวิต

ลายนิ้วมือ ประกอบด้วยร่อง (Furrow) และสัน (Ridge) ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายด้าน เช่น การพิสูจน์ตัวตน การยืนยันลายนิ้วมือ รวมไปถึงการค้นหาศักยภาพของสมองสะท้อนเอกลักษณ์และอัจฉริยะภาพบุคคลในแต่ละด้าน (Dermatoglyphics)

Dermatoglyphics เป็นศาสตร์ในการวิเคราะห์ลายนิ้วมือ ด้วยการเก็บข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ หาความสัมพันธ์เชิงสถิติ นำไปสู่การแปลความหมาย (แนวทางไม่ต่างกันกับแง่มุมด้านวิทยาศาสตร์ของการพยากรณ์โดยอาศัยการเคลื่อนที่ของดวงดาว) นำไปใช้ทั้งในด้านการพัฒนาเด็ก การคัดสรรพนักงาน การปรับตำแหน่งบทบาทตามความเหมาะสม ทั้งนี้ สำหรับผู้ใหญ่ นั้น สุดท้ายแล้ว ศักยภาพอาจจะถูกพัฒนาไปไกลเกินกว่าจะวัดกันด้วยพื้นฐานสมองต้นกำเนิด แต่อาจจะทราบถึงเรื่องความถนัดและอื่นๆ แทน โดยความสามารถที่มีมาแต่กำเนิด เป็นเพียงแค่แต้มต่อ อย่างไรเสีย ความพยายามและการฝึกฝน ยังคงเป็นปัจจัยนำไปสู่ความสำเร็จอันดับแรกเสมอ

องค์ประกอบที่ใช้ชี้บ่งเอกลักษณ์บุคคล มีดังนี้

  1. ลักษณะทั่วไปที่สามารถมองเห็นได้ ได้แก่ รูปแบบลายนิ้วมือ พื้นที่ทั้งหมดลายนิ้วมือ จุดใจกลาง จุดสันดอนหรือสามเหลี่ยมเดลต้า ชนิดของเส้น จำนวนเส้นลายนิ้วมือ
  2. ลักษณะเฉพาะที่ ได้แก่ เส้นแตก หรือ เส้นส้อม (bifurcation) เส้นสั้นๆ (short ridge) จุด (dot) เส้นขาด (ending ridge) เส้นทะเลสาบ (island) เส้นตะขอ และเส้นอื่นๆ

รูปแบบของลายนิ้วมือ

  1. แบบเส้นโค้ง (Arch) ได้แก่ แบบโค้งราบ (Plain Arch) แบบโค้งกระโจม (Tented Arch)
  2. แบบมัดหวาย (Loop) ได้แก่ แบบมัดหวายปัดขวา (Right Loop) แบบมัดหวายปัดซ้าย (Left Loop) แบบมัดหวายคู่ (Twin Loop หรือ Double Loop)
  3. แบบก้นหอย (Whorl) ได้แก่ แบบก้นหอยธรรมดา (Plain Whorl) แบบก้นหอยกระเป๋ากลาง (Central Pocket) แบบก้นหอยกระเป๋าข้าง (lateral Pocket)
  4. แบบซับซ้อน (Accidental Whorl)

กรอบแนวคิดหรือทฤษฎีที่ใช้อธิบาย ประกอบการการแปลความหมาย ถึงแนวโน้มศักยภาพของสมองที่มีมาแต่กำเนิด อาทิเช่น ทฤษฎีพหุปัญญา 8 ประการของ Dr. Howard Gardner

ประเภทของพหุปัญญาตามการจำแนกของ Gardner ได้แก่ ปัญญาด้านปฏิสัมพันธ์ต่อผู้อื่น (Interpersonal Intelligence) ปัญญาด้านปฏิสัมพันธ์ต่อตนเอง (Intrapersonal Intelligence) ปัญญาค้านตรรกะ-คณิตศาสตร์ (Logical-Mathematical Intelligence) ปัญญาด้านการมองเห็น-พื้นที่ (Visual-Spatial Intelligence) ปัญญาด้านการเคลื่อนไหวทางร่างกาย (Bodily-Kinesthetic Intelligence) ปัญญาด้านถ้อยคำ-ภาษา (Linguistic Intelligence) ปัญญาด้านเข้าใจธรรมชาติ (Naturalist Intelligence) ปัญญาด้านดนตรี (Musical Intelligence)