หนึ่งในเครื่องมือเพื่อการบริหารจัดการองค์กรและการวัดผลการปฏิบัติงาน ได้แก่ ระบบมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐศาสตร์ หรือ Economic Value Added (EVA) มีแนวคิดว่าทุกกิจกรรมที่ดำเนินไป ควรมีผลประโยชน์สูงกว่าต้นทุนที่รวมค่าเสียโอกาส ในด้านการคำนวณนั้น จะพิจารณาผลต่างของกำไรหลังหักภาษี (Net Operating Income After Tax: NOPAT) กับต้นทุนค่าเสียโอกาส (Capital Charge) สามารถเขียนเป็นสูตรสำเร็จได้ดังนี้
มูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐศาสตร์ (EVA) = กำไรหลังหักภาษี (NOPAT) – อัตราต้นทุนเงินลงทุนถ่วงน้ำหนัก (WACC) x เงินลงทุน (IC)
อัตราต้นทุนเงินลงทุนถ่วงน้ำหนัก (Weighted Average Cost of Capital: WACC) แสดงให้เห็นถึงค่าเสียโอกาสที่นักลงทุน ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ต้องเสียใปจากการนำเงินเข้ามาลงทุนในกิจการ อัตรานี้จะขึ้นอยู่กับความเสี่ยงขององค์กร ซึ่งนักลงทุนย่อมต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่มากขึ้น ส่วนเงินลงทุน (Invested Capital: IC) เป็นการลงทุนทั้งหมด คิดจากสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนรวมกับเงินทุนหมุนเวียน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในกิจการ
เมื่อพิจารณาจากสุตรการคำนวณนี้แล้ว พบว่าการเพิ่มขึ้นของมูลค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ สามารถทำได้ 3 แนวทาง ได้แก่
- เพิ่มกำไรหลังหักภาษี โดยไม่เพิ่มเงินลงทุน
- ลดความเสี่ยงองค์กร ที่ส่งผลกระตอบต่ออัตราต้นทุนของเงินทุนที่เพิ่มขึ้น
- เพิ่มเงินลงทุนในกรณีที่เงินลงทุนนั้นสามารถสร้างกำไรได้สูงกว่าอัตราต้นทุนของเงินทุน
นอกจากการใช้เป็นตัววัดแล้ว การนำระบบมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐศาสตร์เป็นกรอบเพื่อการบริหารจัดการ คือ Value-based Management มุ่งเน้นเรื่องการเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กร ซึ่งสามารถใช้ได้ในเรื่องการประเมินผลการดำเนินงานทั้งกับองค์กรและกับพนักงาน โดยมีการแตกรายละเอียดถึงความสัมพันธ์ระหว่างผลลัพธ์กับตัวขับเคลื่อนที่นำไปสู่ผลลัพธ์นั้น ที่เรียกกันว่า Value Driver Tree