การปรับปรุงพัฒนาระบบงาน โดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้กับทุกส่วนขององค์กร และทุกส่วนของธุรกิจ เป็นส่วนสำคัญยิ่งต่อการยกระดับขีดความสามารถขององค์กรในยุคปัจจุบัน ไม่ใช่เพื่อศักยภาพการแข่งขันที่ดีกว่าคู่แข่งเท่านั้น แต่เพื่อความอยู่รอดเป็นสำคัญ เนื่องจากองค์กรไหนๆ ก็มุ่งสู่เส้นทางนี้กันถ้วนหน้าแล้ว
การวิเคราะห์และจัดทำสถาปัตยกรรมองค์กร (Enterprise Architecture) เป็นกระบวนการสำคัญในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ มาสนับสนุนการดำเนินงานทางธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งแสดงให้เห็นภาพสถาปัตยกรรมองค์กรในปัจจุบัน (As is) และภาพความก้าวหน้าในอนาคต (To be) ของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ ตลอดจนสามารถปรับปรุงได้อย่างต่อเนื่อง จึงอาจเรียกได้ว่า สถาปัตยกรรมองค์กร สามารถเป็นทั้งเครื่องมือและกลยุทธ์เพื่อการทำ Digital Transformation อย่างเต็มรูปแบบ โดยส่วนใหญ่จะเริ่มต้นจาก 1) การวิเคราะห์จัดทำสถาปัตยกรรมองค์กรในปัจจุบัน (As is) และภาพสถาปัตยกรรมองค์กรในอนาคต (To be) 2) การจัดหาเครื่องมือบริหารจัดการสถาปัตยกรรมองค์กร พร้อมบูรณาการข้อมูลเข้าสู่ระบบจัดเก็บข้อมูลสถาปัตยกรรม (Repository) และ 3) การจัดทำแผนงาน การฝึกอบรมให้ความรู้ เพื่อเตรียมความพร้อมและผลักดันสถาปัตยกรรมองค์กรไปใช้ทั่วทั้งองค์กร ตามลำดับ
โดยทั่วไปแล้วการจัดทำสถาปัตยกรรมองค์กร มีองค์ประกอบเพื่อดำเนินงาน ได้แก่ การบริหารจัดการโครงการ การวิเคราะห์จัดทำสถาปัตยกรรมองค์กร และการสนับสนุนหรือต่อยอดด้านอื่นๆ
1) การบริหารจัดการโครงการ
- จัดทำและนำเสนอแผนดำเนินงานโครงการ
- กำหนดให้มีผู้จัดการโครงการ (Project Manager)
- จัดทำผังโครงสร้างทีมงาน (Project Organization)
- ดำเนินการประชุมตามวาระต่างๆ
2) การวิเคราะห์จัดทำสถาปัตยกรรมองค์กร
- ศึกษาสำรวจ วิเคราะห์ สถานภาพปัจจุบัน (As is Architecture) ออกแบบและจัดทำสถาปัตยกรรมองค์กรที่ต้องการในอนาคต (To be Architecture) และกำหนดแผนการปรับปรุง (Transition Plan)
- สถาปัตยกรรมดังกล่าว ควรครอบคลุมด้านกระบวนการทางธุรกิจและการบริการ (Business Architecture) ด้านระบบงานและโปรแกรมประยุกต์ (Application Architecture) ด้านโครงสร้างพื้นฐานข้อมูล (Data/Information Architecture) ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและความมั่นคงปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Technology Infrastructure and Security Architecture) เป็นอย่างน้อย
- สถาปัตยกรรมองค์กร ต้องสามารถระบุผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในแต่ละส่วน
3) การสนับสนุนหรือต่อยอดด้านอื่นๆ
- การสื่อสารและให้ความรู้กับบุคลากร
- เครื่องมือที่สนับสนุนการพัฒนาสถาปัตยกรรมองค์กร อาทิเช่น กรอบ (Framework) และระเบียบวิธี (Methodology) ที่สนับสนุน EA Frameworks ระดับสากล ได้แก่ The Zachman, TOGAF, FEA หรือแม้แต่ซอฟท์วร์สำหรับสร้างแบบจำลองมาตรฐาน เช่น Business Process Modeling Notation (BPMN) เป็นต้น
- การต่อยอดเพื่อให้เกิดการนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม อาทิเช่น สร้างที่จัดเก็บข้อมูล (Repository) และแสดงรายละเอียดของสถาปัตยกรรมองค์กรในรูปแบบต่างๆ การรวบรวมวนทรัพย์และผลงานด้านไอที (IT Asset Portfolio) การรองรับการจัดการด้านยุทธศาสตร์ ICT หรือยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัล การรองรับการสร้างความสัมพันธ์ของข้อมูลเพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ด้านต้นทุนของระบบงาน (Application) การวิเคราะห์ผลกระทบและความเสี่ยง เป็นต้น