ทำไมผู้นำถึงล้มเหลว …

1. ฉลาดเกินไป โง่ไม่เป็น – Too smart
ผู้นำที่ใช้ลูกน้องด้วยการสั่งมาก กำหนดมาก เงื่ิอนไขมาก เกินความจำเป็น เพราะเอาแต่ใจหรือคิดว่าตัวเองรู้มากกว่า กับผู้นำที่ไม่ใช้ลูกน้องเพราะคิดว่าตัวเองเก่ง ทำเองจะดีกว่า

2. ไม่มองอนาคต ถ้ามองก็มองผิด – Wrong/lacking future vision
ผู้นำที่ทำงานบนหน้าตัก ไม่คิดเผื่อเหลือเผื่อขาดจากเหตุการณ์ที่ยังมาไม่ถึงก็มีปัญหาแบบหนึ่ง ผู้นำที่พยายามคิดไกลแต่วิเคราะห์หรือสกัดปัจจัยของอนาคตไม่เป็น ไม่แม่นยำ ก็จะมีปัญหาอีกแบบหนึ่ง ส่วนปัญหาแบบไหนที่ใหญ่กว่าก็คงขึ้นอยู่กับขนาดและประเภทของธุรกิจนั้น

3. ประมาทหรือคิดน้อยไป – Under/less estimate
ผู้นำแบบนี้ องค์กรจะมีความเสี่ยงไม่มาก หากมีคนช่วยแบกภาระด้านการคิดที่ดี แต่จะมีความเสี่ยงกับตัวผู้นำเองเพราะจะกลายเป็นคอขวดกรณีที่คิดน้อย หรือคุณภาพความคิดด้อยกว่าผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ก็จะเป็นหายนะองค์กรเลยกรณีที่ผู้นำมีความประมาท เพราะบทบาทที่สำคัญที่สุดของการเป็นผู้นำนั้นไม่ใช่การคิด แต่เป็นการตัดสินใจ

4. เชื่อคนง่ายหรือเชื่อตนเองมากเกินไป – Trust the others/self too much
ผู้นำที่เชื่อคนที่ควรเชื่อ คนที่รู้เชี่ยวชาญจริง คนที่ไว้ใจได้จริง ก็จบ แต่หลายครั้งมักจะติดหล่มกับความสำเร็จของตัวเอง จึงเชื่อตัวเองเกินไปจนกลายเป็นความประมาท พ้นข้อสามได้ แต่ถ้าไม่ผ่านข้อสี่ หายนะก็อาจจะจากไปเพียงชั่วคราว

5. ทำงานที่ไม่ถนัด – Wrong field
ผู้นำควรเก่งเรื่องมองภาพใหญ่ กว้าง เห็นมิติที่ลึกได้ยึ่งดี ไม่ควรเสียเวลากับรายละเอียดมากเกินไป แต่อย่างน้อยควรมีความรู้หรือความถนัดอย่างเพียงพอในงานที่รับผิดชอบอยู่เพื่อประสานและสั่งการได้ถูกต้อง

6. ทำงานผิดสถานการณ์ – Wrong situation
ผู้นำที่อยู่กับปัจจุบันได้เก่ง กล่าวคือ สามารถทำงานประเภทนั้นได้ถูกเวลา หากประเมินสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานที่รับผิดชอบนั้นได้ดี มักจะต่อยอดให้เกิดทักษะข้อสองได้ และถ้าได้มาทั้งการมองปัจจุบันกับมองอนาคตที่แม่นยำ ก็น่าจะปิดช่องความล้มเหลวของการเป็นผู้นำได้เกินครึ่ง

7. ทำงานผิดสถานที่ – Wrong place
ผู้นำที่รู้ว่าควรทำเมื่อไร แถมยังรู้อีกว่าควรทำที่ใด ก็จะมีชัยไปกว่าครึ่ง ตรงกันข้ามถ้าสถานที่หรือสภาพแวดล้อมของการทำงาน การสนับสนุนหรือการรองรับผลงานไม่เอื้ออำนวยแล้วไซร้ ย่อมมีโอกาสเหนื่อยเปล่าได้สูง