การเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อการแข่งขันทั้งในระดับองค์กร อุตสาหกรรม รวมไปถึงระหว่างประเทศ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ความสามารถขององค์กรเป็นผลจากการพัฒนาในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการทรัพยากรทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้ไปสู่ความได้เปรียบทางการแข่งขัน และยังช่วยสะท้อนถึงจุดแข็ง จุดอ่อน เช่นเดียวกับความสามารถขององค์กรในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ตัวอย่างขอบเขตของความสามารถดังกล่าว ได้แก่ การตัดสินใจและควบคุมสิ่งอำนวยความสะดวกโดยผู้ใช้งาน การจัดเตรียมและดำเนินโครงการ องค์กรที่มุ่งเน้นด้านผลิตภัณฑ์และกระบวนการ องค์กรที่มุ่งเน้นด้านผลิตภัณฑ์และกระบวนการ แนวคิดการออกแบบและพัฒนาที่ให้ผลิตภัณฑ์เป็นศูนย์กลาง ความเชื่อมโยงของการพัฒนา และอุปทานของสินค้าทุน
หากพิจารณาในระดับองค์กร บริษัททั่วไปสามารถเพิ่มผลกำไรจากการเพิ่มความสามารถทางเทคโนโลยีและการพัฒนาเทคโนโลยีในระดับประยุกต์ด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เช่น การลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง การเพิ่มเสถียรภาพของระบบ การหาโอกาสใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีอยู่ ผลลัพธ์ที่ได้จะส่งผลต่อการดำเนินงานตลอดจนประสิทธิผลด้านการเงินในทางที่ดีขึ้น
แนวทางการพิจารณาความสามารถขององค์กร อาจไม่เหมือนกันในแต่ละองค์กร บางแห่งอาจใช้แนวทางการดำเนินการเฉพาะภายในองค์กรเป็นหลัก ในขณะที่บางแห่งอาจจะพิจารณาถึงความร่วมมือระหว่างองค์กรเพื่อเติมเต็มส่วนที่บกพร่องหรือต่อยอดในส่วนที่เป็นประโยชน์ การสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรให้เป็นรูปธรรมและยั่งยืน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกลไกในการพัฒนา การสื่อสาร การขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน ระบบนวัตกรรม (Innovation System) จึงมีบทบาทเพื่อตอบสนองต่อวัตถุประสงค์เหล่านี้
ระบบนวัตกรรมโดยทั่วไปจะหมายถึงระบบนวัตกรรมในระดับชาติ (National Innovation System หรือ NIS) และมีผู้ให้คำนิยามแตกต่างกัน โดย Freeman (1987) ได้ให้คำนิยามถึงระบบนวัตกรรมไว้ว่าเป็นเครือข่ายของสถาบันภาครัฐและเอกชนที่มีกิจกรรมร่วมกันในการริเริ่ม เปลี่ยนแปลง และเผยแพร่เทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งกลุ่มของสถาบันเหล่านี้จะมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันเพื่อมุ่งไปสู่ประสิทธิภาพในเชิงสร้างสรรค์ โดยอาจมีรูปแบบของการสร้างแรงจูงใจรวมไปถึงการระบุขีดความสามารถเพื่อกำหนดอัตราและทิศทางของการเรียนรู้ในด้านเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาถึงความสัมพันธ์ที่สอดคล้องกันในด้านผลิตภัณฑ์ การใช้งาน และการก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐศาสตร์ ทั้งนี้องค์กรเหล่านี้จะต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาและเผยแพร่เทคโนโลยีใหม่ และมีการจัดเตรียมการดำเนินงานซึ่งรวมไปถึงนโยบายที่เอื้อต่อกระบวนการสร้างนวัตกรรม อาทิเช่น ระบบที่เชื่อมโยงสถาบันเพื่อการสร้าง จัดเก็บ ถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะ และกำหนดทิศทางของเทคโนโลยีรูปแบบใหม่