ระบบนวัตกรรมในระดับอุตสาหกรรม แสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการสนับสนุนและพัฒนาระบบนวัตกรรมในระดับอุตสาหกรรมซึ่งส่งผลกระทบต่อการจัดการเทคโนโลยีและนโยบาย กรอบการดำเนินงานนี้มุ่งเน้นไปที่ลักษณะ โครงสร้าง องค์กรที่เกี่ยวข้อง และพลวัตรของนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ในภาคอุตสาหกรรมบนพื้นฐานของทฤษฎิวิวัฒนาการและวิธีการของระบบนวัตกรรม องค์ประกอบที่สำคัญของกรอบการดำเนินงานนี้ประกอบไปด้วย บริษัทภายในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง (Firms) องค์กรรูปแบบอื่นที่เกี่ยวข้อง (Other actors) เครือข่ายเชื่อมโยงความสัมพันธ์ขององค์ความรู้หรือกิจกรรมต่างๆ (Networks) ความต้องการของตลาด (Demand) สถาบันที่มีบทบาทต่อการเปลี่ยนปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Institutes) ฐานความรู้ (Knowledge base) และกระบวนการหลักและส่วนร่วมเพื่อการพัฒนา (Main processes and coevolution)
ในส่วนของระบบนวัตกรรมในระดับเทคโนโลยีนั้น ความเชื่อมโยงระหว่างองค์ประกอบ กิจกรรม และฟังก์ชั่น ผ่านรูปแบบของการวิเคราะห์ที่ประกอบไปด้วย 6 ขั้นตอนหลัก โดยมีสาระสำคัญอยู่ที่บทบาทหน้าที่ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบ กับฟังก์ชั่นที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนองค์ความรู้และนวัตกรรมภายในระบบ
กระบวนการนี้เริ่มต้นจาก 1.การกำหนดจุดมุ่งหมายของการดำเนินการบนแนวคิดของระบบนวัตกรรมให้ชัดเจน ซึ่งอาจต้องพิจารณาถึงทางเลือกที่จะนำมาซึ่งจุดมุ่งหมายที่จะต้องถูกวิเคราะห์ในลำดับถัดไป 2.การระบุโครงสร้างและองค์ประกอบภายในระบบ ซึ่งแนวทางที่ใช้ส่วนใหญ่จะพิจารณาถึง สมาคมหรือกลุ่มความร่วมมือภายในอุตสาหกรรมนั้น (Industry associations) การวิเคราะห์สิทธิบัตร (Patent analysis) การวิเคราะห์บรรณมิติ (Bibliometric analysis) หรือการสัมภาษณ์และอภิปรายโดยผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรม 3.การค้นหารูปแบบของบทบาทหน้าที่ (Function pattern) ซึ่งจากหลายกรณีศึกษาพบว่า สามารถแบ่งรูปแบบของบทบาทหน้าที่พอสังเขป ได้ดังต่อไปนี้
- การพัฒนาและแพร่องค์ความรู้ (Knowledge development and diffusion)
- การมีบทบาทหรือส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางเพื่อพัฒนา (Influence on the direction of search)
- การสนับสนุนและเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (Entrepreneurial experimentation)
- การมีบทบาทหรือส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบของตลาดรวมไปถึงการสร้างตลาดใหม่ (Market formation)
- การดำเนินบทบาทเพื่อกำหนดมาตรฐานหรือกฎระเบียบ (Legitimation)
- การสนับสนุนการเคลื่อนย้ายทรัพยากไปยังหน่วยงานอื่น (Resource mobilization)
- การพัฒนาปัจจัยภายนอกที่เอื้อประโยชน์ต่อระบบนวัตกรรม (Development of positive externalities)