แนวคิดของการประเมินศักยภาพการตอบสนองต่อเป้าหมายชีวิตนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากแนวคิดที่ถูกพัฒนาเพื่อประเมินศักยภาพด้านกระบวนจัดการซอฟแวร์ชื่อ Capability Maturity Model (CMM) โดยมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon  ที่เน้นแนวทางการวิเคราะห์และหาแนวทางในการพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรและการจัดการภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มขึ้น หลักคิดของ CMM ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า ความสำเร็จของการดำเนินงานขึ้นอยู่กับระดับความสามารถในการดำเนินงานขององค์กร โดยมีแบบประเมินศักยภาพ ที่แบ่งระดับความสามารถได้เป็น 5 ระดับ ได้แก่

  • ระดับที่ 1 (Initial level) – บริษัทยังทำงานแบบไม่เป็นระบบ โดยต้องพึ่งผู้ที่มีประสบการณ์เป็นหลัก
  • ระดับที่ 2 (Repeatable level) –  การทำงานมีความเป็นระบบมากขึ้น มีการนำหลักการจัดการโครงการมาใช้ในการบริหารงานของแต่ละโครงการ
  • ระดับที่ 3 (Defined Level) – มีการจัดทำมาตรฐานการทำงานในระดับหน่วยงาน มีการปรับปรุงการดำเนินงานในระดับที่สอง สามารถวัดผลและจัดเก็บเป็นสถิติเอาไว้
  • ระดับที่ 4 (Managed Level) – นำเอาสถิติการดำเนินงานที่จัดเก็บไว้มาวิเคราะห์ เพื่อหาจุดบกพร่องและสำหรับการแก้ไข
  • ระดับที่ 5 (Optimizing level) – หน่วยงานดำเนินการปรับปรุงกระบวนการทำงานของตนเองอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ๆ และป้องกันไม่ให้ข้อบกพร่องเกิดขึ้น

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีแนวคิดในการพัฒนาการประเมินศักยภาพด้านการจัดการนวัตกรรม โดยมีการกำหนดระดับศักยภาพด้านการจัดการนวัตกรรมเป็น 5 ระดับ ได้แก่

  • Ad hoc Innovation – องค์กรมีการจัดการนวัตกรรมในลักษณะการดำเนินงานแบบรายวันโดยที่ผลลัพธ์ของการดำเนินงานด้านนวัตกรรมนั้นไม่สม่ำเสมอและคาดเดาไม่ได้ถึงผลลัพธ์ที่จะได้รับจากกระบวนการนวัตกรรม
  • Defined Innovation – องค์กรมีความต้องการที่จะกำหนดผลลัพธ์และติดตามผลลัพธ์จากการดำเนินงานตามกระบวนการนวัตกรรมแต่ผลลัพธ์ไม่มีความต่อเนื่อง
  • Supported Innovation – องค์กรมีการกำหนดขั้นตอน แนวทาง และเครื่องมือในการจัดการนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับผลลัพธ์ด้านนวัตกรรมที่องค์กรได้กำหนดไว้
  • Aligned Innovation – องค์กรมีการบูรนาการกิจกรรมและทรัพยากรที่สนับสนุนกิจกรรมในกระบวนการนวัตกรรมและมีผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับเป้าหมายด้านนวัตกรรม
  • Synergized Innovation – องค์กรมีการจัดการนวัตกรรมที่เชื่อมโยงกับกิจกรรมและทรัพยากรในกิจกรรมต่างพร้อมทั้งมีการกำหนดผลลัพธ์เชิงนวัตกรรมที่สอดคล้องกับการสร้างศักยภาพในการแข่งขันขององค์กร

ในแง่ของแนวคิดของการประเมินศักยภาพการตอบสนองต่อเป้าหมายชีวิต (Life Maturity Model, LMM) ได้ประยุกต์แนวคิดข้างต้นเข้ากับ … โดยแบ่งออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่

  • ระดับที่ 1 เริ่มต้น (Initial) – ชีวิตดำเนินไปโดยปราศจากเป้าหมายและไม่มีระเบียบแบบแผน
  • ระดับที่ 2 ระบุได้ (Defined) – มีเป้าหมายในชีวิตแต่ดำเนินไปอย่างไม่มีแบบแผนและขาดความต่อเนื่อง หรือดำเนินชีวิตอย่างมีแบบแผนแต่ขาดเป้าหมายที่ชัดเจน
  • ระดับที่ 3 สอดคล้อง (Aligned) – ปัจจัยของชีวิตส่วนใหญ่เอื้อต่อการไปสู่เป้าหมาย แต่ยังขาดการวางแผนเชื่อมโยงถึงกันอย่างเป็นระบบ
  • ระดับที่ 4 บูรณาการ (Integrated) – ปัจจัยแต่ละด้านของชีวิตได้รับการพิจารณาเพื่อวางแผนอย่างเป็นองค์รวมต่อการตอบสนองต่อเป้าหมายของชีวิต แต่ยังขาดความเป็นรูปธรรมต่อการนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง
  • ระดับที่ 5 สมบูรณ์ (Mature) – มีกลยุทธ์อย่างเป็นรูปธรรมและนำมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงข้อบกพร่อง เพิ่มโอกาสการยกระดับคุณภาพชีวิต และมุ่งสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างแม่นยำ