จากตอนที่ผ่านมา ผมขอสรุปอีกครั้งว่าแชมป์หรือผู้ชนะ คือ ผู้ที่ประสบความสำเร็จและเป็นผู้มีความสุข หากคุณยังมีไม่ครบทั้งสองสิ่งก็แสดงว่ายังไม่ใช่แชมป์ แล้วจะวัดได้อย่างไรว่าระดับใดจึงนับว่าสำเร็จ ระดับใดเรียกว่ามีความสุข ผมขอตอบว่า ก็แล้วแต่คุณสิ มันขึ้นอยู่กับเป้าหมายของตัวคุณเอง แต่ตอนนี้ ผมขอข้ามประเด็นนี้ไปชั่วคราว เป้าหมายของคุณในตอนนี้ขอให้ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจส่วนบุคคลไปก่อน แล้วค่อยตามไปใช้เหตุผลด้วยกรอบแนวคิดที่มีอยู่ หรืออคุณอาจจะสร้างเหตุผลและแนวคิดขึ้นมาด้วยตัวเอง กรณีที่ไม่ต้องการใช้กรอบแนวคิดอื่นใด เพราะอย่าลืมเสียว่า พื้นฐานของการทำให้เรามีความสุขอย่างหนึ่งคือการมีเหตุผล (C-Cause) นั่นเอง

สมมติว่าคุณพอใจในความสุขความสำเร็จที่มีอยู่ ก็เรียกได้ว่าเป็นแชมป์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสถานะของการเป็นแชมป์แบบที่เป็นอยู่นี้จะยังคงใช้ได้ดีกับสถานการณ์ในอนาคต กับอีกกรณีหนึ่งที่ยังไม่มีความพอใจครบถ้วนทั้งสุขทั้งสำเร็จ ก็อาจจะดูเหนื่อยหน่อย แต่ถ้าลองพิจารณาด้วยเหตุผลเดียวกับกรณีแรกที่พอใจแล้ว ก็จะพบว่า ที่จริงก็ไม่ได้เลวร้ายไปกว่ากัน เพราะอย่างไรนั้น อนาคตก็จะทำให้สิ่งที่เป็นอยู่มีสถานะหรือให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไป สรุปแล้ว มันเกิดการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งแวดล้อม คำถามคือ แล้วเราจะต้องเปลี่ยนแปลงด้วยหรือไม่ ก็ถ้ายังใช้ได้ดีก็ไม่ควรเปลี่ยน (เว้นแต่สามารถทำให้ดีกว่าเดิมได้) ถ้าใช้การได้ไม่ดี ก็ควรเปลี่ยนเสีย ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ก็เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Transformation) จากสถานะแชมป์เดิมไปสู่สถานะแชมป์ใหม่ (New Champs) นั่นเอง ทบทวนกันอีกซักครั้ง … คุณสมบัติเชิงกลยุทธ์ขั้นพื้นฐาน (SPACE) เพื่อทำให้เกิดความสุข กับคุณสมบัติเชิงกลยุทธ์ขั้นประยุกต์ (CHAMP) เพื่อให้เกิดความสำเร็จ คือสองสิ่งที่นำไปสู่การเป็นแชมป์หรือผู้ชนะ ซึ่งการรักษาสถานะของแชมป์ให้คงอยู่ตามกาลเวลาที่ทำให้ปัจจัยการดำเนินชีวิตแปรเปลี่ยนอันส่งผลต่อเป้าหมายที่อาจเปลี่ยนตาม จะต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่สถานะแชมป์ใหม่ด้วยการเปลี่ยนกลยุทธ์ (CHAMPSPACE) นั่นเอง