กระบวนการเปลี่ยนแปลงองค์การมีหลากหลายวิธี แต่วิธีที่เป็นที่ยอมรับนิยมใช้ในปัจจุบัน คือ รูปแบบการเปลี่ยนแปลง 3 ขั้นตอนของเคิร์ท เลวิน 3 และรูปแบบการเปลี่ยนแปลง 8 ขั้นตอนของจอห์น พี คอตเตอร์
1) กระบวนการเปลี่ยนแปลงองค์การตามแนวคิดของเคิลร์ท เลวิน (Lewin, 1951) เป็นแนวคิดการเปลี่ยนแปลง 3 ขั้นตอน โดยเริ่มที่การเขย่าให้องค์กรให้ละลายจากภาวะนิ่งและสุขสบาย แล้วจึงทำการเปลี่ยนแปลงก่อนที่จะปล่อยให้องค์กรค่อยๆ สงบลงสู่ภาวะตกผลึกนิ่งอีกครั้ง ประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้
– การละลายพฤติกรรมเดิม (Unfreezing) เป็นการสร้างแรงจูงใจให้พนักงานก่อนที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลง โดยการตระหนักถึงคุณค่าของความร่วมมือและการทำงานร่วมกันของพนักงาน ปรับเปลี่ยนทัศนคติ สร้างพฤติกรรมใหม่ที่ต้องการ ในขั้นตอนนี้ผู้นำควรต้องแจ้งให้คนในองค์กรทราบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงขององค์กร โดยการติดต่อสื่อสารและการรับฟังความคิดเห็นเพื่อลดการต่อต้าน
– การเปลี่ยนแปลง (Changing) เป็นการดำเนินการเปลี่ยนแปลง ขั้นตอนนี้ผู้นำต้องให้ข้อมูลใหม่ รูปแบบพฤติกรรมใหม่ กระบวนการใหม่ วิธีการทำงานแบบใหม่หรือสิ่งที่ต้องการให้องค์กรเป็นแก่คนในองค์กร ผู้นำควรจะเข้าใจทัศนคติและเข้าใจถึงขั้นตอนการตอบสนองของมนุษย์เมื่อมีทัศนคติในเชิงลบ ผู้นำควรให้คำแนะนำและสื่อสารกับคนในองค์กรให้ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง โน้มน้าวให้พวกเขาเห็นถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการเปลี่ยนแปลง และการยอมรับความคิดใหม่ๆ ที่มาจากพวกเขาเป็นสิ่งที่ผู้นำไม่ควรละเลย
– การรักษาการเปลี่ยนแปลงให้คงอยู่ถาวร (Refreezing) เป็นการสร้างกลไกในการรักษาให้การเปลี่ยนแปลงคงอยู่ ช่วยให้เกิดพฤติกรรมใหม่ การทำงานแบบใหม่ กระบวนการใหม่ กลายเป็นสิ่งที่ทำจนเป็นความเคยชิน ผู้นำควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยการสื่อสารกับคนในองค์กรเกี่ยวกับการดำเนินการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดและข้อมูลระหว่างทุกฝ่าย ให้ความสนใจกับปัญหาที่พบและดำเนินการแก้ไขทันทีเพื่อสนับสนุนพวกเขา ในขั้นตอนนี้ควรมีการให้แรงเสริมด้านบวก ในรูปของรางวัลหรือผลตอบแทนแก่พนักงานที่มีพฤติกรรมการทำงานใหม่ด้วย