โดยหลักทฤษฎีของการจัดการการเปลี่ยนแปลงในองค์กรภาครัฐให้ประสบผลสำเร็จนั้น มีปัจจัยตามลำดับขั้นตอนที่ต้องคำนึงอยู่หลายประการ ได้แก่ การตรวจสอบความต้องการและความจำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลง จัดทำแผนเพื่อการปรับเปลี่ยน สร้างการสนับสนุนภายในสำหรับการต่อต้านหรือลดแรงเสียดทาน สร้างความมั่นใจว่าจะได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง สร้างการสนับสนุนจากภายนอก จัดหาทรัพยากรที่จำเป็น ริเริ่มดำเนินการปรับเปลี่ยน และติดตามการเปลี่ยนแปลงอย่างทั่วถึง สำหรับการพิจารณาปัจจัยสำเร็จของการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนคือสร้างความเข้าใจและอธิบายผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การทำให้เกิดเหตุผลและความรู้สึกร่วมต่อการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนการสร้างสถานการณ์เพื่อจำลองบทบาทแก่ทีมผู้นำการเปลี่ยนแปลง ในส่วนของการจัดทำแผนการบริหารการเปลี่ยนแปลง ซึ่งครอบคลุมปัจจัยตามลำดับขั้นตอนตามหลักทฤษฎีข้างต้น จำเป็นต้องสร้างบรรทัดฐาน เพื่อมุ่งสู่การสร้างกระบวนการทำงานที่ได้รับการยกระดับสู่มาตรฐาน สามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้จริงและเกิดการบูรณาการกันอย่างสมบูรณ์ โดยเชื่อมโยงข้อมูลเชิงประยุกต์ผ่าน 3 keywords สำคัญ ได้แก่

  • INNOVATIVE : การสรรค์สร้างนวัตกรรม
  • INTEGRATED : การบูรณาการ เชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์ใหม่ ในลักษณะของการผสมผสาน สอดคล้องเข้าด้วยกัน
  • INTELLIGENT : ความเป็นอัจฉริยะให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

หลักสำคัญที่จะบูรณาการให้แผนบริหารการเปลี่ยนแปลงเกิดผลสัมฤทธ์อย่างมีนัยสำคัญ คือการวางแผนรูปแบบที่ชัดเจนและรอบคอบ ซึ่งมีปัจจัยหลากหลายมิติที่ต้องนำมาพิจารณา ปัจจัยสำคัญอันดับแรก คือการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลที่สอดคล้องกับการดำเนินการให้สัมฤทธิ์ผล รวมถึงการแปลงผลลัพธ์ให้เกิดการเชื่อมโยงสู่แนวทางที่ปฏิบัติได้จริงและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยผ่านมุมมองของผู้บริหาร (Top Down) เชื่อมโยงสู่ผลลัพธ์ พร้อมทำให้เกิดความตระหนักและนำไปสู่การปฏิบัติผ่านมุมมองผู้ปฏิบัติงานจริงร่วมกัน (Bottom Up) เพื่อให้เกิดความสมดุลในการนำไปปฏิบัติ อันรวมไปถึงการต่อยอดเพื่อพัฒนากระบวนการให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต การตอบสนองต่อการผลักดันนโยบายในทุกระดับ และการบริหารจัดการภายในองค์กร โดยการศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ประกอบกับการเทียบเคียงกับตัวอย่างแนวทางปฏิบัติที่ดี (Good Practice) และแผนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง