
วันหนึ่งวันที่ต้องเริ่มส่งงานด่วน จึงจำใจนั่งพี่วินไปพิมพ์และเข้าเล่มรายงาน พอลงจากรถก็บอกไปว่า รอแป๊บ เดี๋ยวจะนั่งกลับที่เดิม ในตอนที่จะจ่ายเงินเมื่อมาถึงปลายทาง พี่วินก็ทำกิริยาไม่ดีเท่าไหร่ ไอ้เราก็พาลจนนึกในหัวแต่ไม่กล้าพูดออกไปเพราะพี่แกตัวใหญ่กว่า … ขึ้นได้ว่า นั่งกลับมาที่เดิมนะเว่ยเฮ่ย (คิดได้กระทันหันแบบ ปัง!! จึงอดที่จะเติมคำว่า เว่ย เฮ่ย ต่อท้ายมิได้) การกระจัดเป็นศูนย์ ต้องไม่เสียตังค์สิ เพราะตอนสมัยเรียนวิชาฟิสิกส์ การที่จะเกิดงาน เกิดการเสียพลังงาน หรือการได้มาซึ่งผลของงาน มักคำนวณมาจากการกระจัด ไม่ใช่ระยะทาง กรณีที่ใช้วินมอเตอร์ไซต์นี้ ระยะที่ไปกลับก็น่าจะราวสี่ร้อยเมตร แต่กลับมาที่เดิมทำให้การกระจัดเท่ากับศูนย์ จึงเสมือนว่าไม่ได้ไปไหน ไม่เสียงาน ไม่เสียแรง นะเว่ยเฮ่ย (แอบตั้งใจลืมคิดไปด้วยความที่เข้าข้างตัวเองว่าน้ำมันเขาลดลงแฮะ) … หากเปรียบเทียบกับความคิดของคนเรา คิดวกไปวกวา บนล่างซ้ายขวา นอนคิดยืนคิด ขี้ก็ยังคิด เอาทั้งท่าง่ายท่ายาก ท้ายสุดก็พบว่าคำตอบหรือทางที่ดีที่สุดมันอยู่ไอ้จุดที่เราคิดเลยมาแล้วเมื่อสามวันก่อนนี่หว่า ถ้านับเป็นการกระจัดของความคิดที่นับจากวันที่เริ่มคิดก็ใช้เวลาแค่สามสิบนาที แต่ถ้านับระยะความคิดก็ปาเข้าไปสามวัน เช่นนี้แล้วควรเสียใจหรือเจ็บใจไหม นั่นก็ขึ้นอยู่กับกาละเทสะว่าเป็นสถานการณ์ที่เน้นการเรียนรู้หรืออยู่ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานที่เน้นเรื่ิองประสิทธิผล ทั้งนี้หากมองในแง่ดีแล้ว การทำงานหนักไม่เคยทำให้ใครตาย มีแต่จะทำให้เพิ่มประสบการณ์ โอกาส และวุฒิภาวะ เช่นเดียวกับความคิดที่ยิ่งมีมากก็ยิ่งทำให้เราโตขึ้นในแบบเดียวกัน สิ่งที่ต้องใส่ใจเพิ่มเติมคือการพิจาณาถึงความคุ้มค่าที่ทำลงไป ทั้งในด้านเวลา แรง และทรัพยากรนั่นเอง