ผมพบว่า การตอบคำถามสุดคลาสสิคที่ว่าชีวิตคืออะไรได้ชัดเจนและลงตัวที่สุด คือการนำหลักพุทธศาสนามาช่วยอธิบาย จากการตกผลึกของผมนั้น ชีวิตคือ ความเป็นธรรมชาติของตัวเราที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับโลกที่มีความเป็นธรรมชาติและพลวัตรของตัวมันเอง ผมขอเริ่มต้นอธิบายด้วยเบญจขันธ์ ดังนี้

“ขันธ์” แปลว่า หมวดหมู่ หรือ กอง ส่วน “เบญจ” แปลว่า ห้าสิ่ง ในทางพุทธศาสนานั้นหมายถึง ความเป็นชีวิตมนุษย์ที่แยกออกได้ตามสภาพเป็น 2 ส่วนหลักกับ 5 ส่วนย่อย ได้แก่
1. รูปขันธ์
– รูป คือ ส่วนผสมของสิ่งที่เป็นกายภาพ สิ่งที่ย่อยที่สุดอาจเรียกได้ว่าเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ
2. นามขันธ์
– เวทนา คือ ระบบประมวลความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ หรือเฉยๆ
– สัญญา คือ ความจำได้ต่อสิ่งที่ได้รับรู้หรือรู้สึก
– สังขาร คือ ระบบคิดปรุงแต่งและแยกแยะต่อสิ่งที่จำได้จากการรับรู้หรือรู้สึก
– วิญญาณ คือ ระบบรับรู้สิ่งต่างๆ ผ่านทางอวัยวะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

นามขันธ์ทั้งสี่จะทำงานสอดประสานกัน หากพิจารณาอย่างง่ายเป็นลำดับ เมื่อเกิดการรับรู้ในเรื่องใด (วิญญาณ) ก็จะเกิดคิดแต่งเติมหรือแยกแยะได้ (สังขาร) ด้วยประสบการณ์หรือสิ่งที่เคยรู้อยู่ก่อนหน้า (สัญญา) จากนั้นก็จะเกิดความรู้สึกพึงพอใจหรือไม่ต่อสิ่งนั้น (เวทนา) ทั้งหมดนี้คือการทำงานในด้านของจิต แต่จะเกิดการปฏิสัมพันธ์กับโลกทางกายภาพไม่ได้หากปราศจากรูปขันธ์

การปฏิสัมพันธ์กับโลกนั้น ผมขอแบ่งเป็นภาคการรับรู้กับภาคการแสดงออก ในส่วนของภาคการรับรู้ เมื่อผสมสิ่งที่เป็นรูปเข้าด้วยกันก็จะกลายเป็นอานตนะทั้ง 6 หรืออวัยวะของร่างกายมนุษย์ที่ทำหน้าที่รับรู้ข่าวสารและรับรู้ถึงความรู้สึกจากโลกภายนอกตัวเรา การรับรู้เข้าสู่ตัวเราเป็นผลมาจากแรงจูงใจ 2 ประเภท ได้แก่
– ตัณหา คือ แรงจูงใจในการเสพ อันก่อให้เกิด สุขเวทนา (ชอบ) และทุกขเวทนา (ไม่ชอบ)
– ฉันทะ คือ แรงจูงใจในการศึกษาและสร้างสรรค์

การดับตัณหาเพื่อให้การรับรู้เกิดมาจากฉันทะจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง เพื่อให้เรารับรู้ด้วยความรู้ที่แท้จริงอย่างมีเหตุมีผล ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งที่เกิดประโยชน์ หากพิจารณาถึงวงจรของตัณหาและฉันทะก็จะพบว่า จะดับตัณหาได้จะต้องอาศัยการมีฉันทะ แต่การจะดับฉันทะได้นั้นจะต้องทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ ปัญหาที่อาจจะตามมาคือเมื่อสำเร็จก็อยากให้ความสำเร็จนั้นคงอยู่หรือทำซ้ำให้สำเร็จได้อีก เนื่องด้วยความชอบความพึงพอใจ จึงเกิดเป็นตัณหาขึ้นมาอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า … เอาเป็นว่า เราจะต้องมีฉันทะเพื่อสร้างความสำเร็จ ชีวิตก็จะดีขึ้นอีกมากโข

ในส่วนของภาคการแสดงออก ก็คือการกระทำต่อโลกผ่านทางกาย การพูดทางวาจา และการคิดซึ่งเป็นส่วนสัมพันธ์กับใจ เป็นหลัก และโลกภายนอก ซึ่งผมขออ้างอิงถึงปัจจัยภายนอกที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องด้วยแนวคิดหนึ่งในการบริหารจัดการ คือ STEEP Analysis อันประกอบไปด้วย S-Social T-Technological E-Economic E-Environmental และ P-Political อันที่จริงแล้ว การแปรเปลี่ยนของแต่ละสิ่งทั้งห้านี้ สืบเนื่องมาจากผลรวมของชีวิตพวกเราแต่ละคน ถ้าจะแปรไปในทางที่ดีก็ควรจะมาจากส่วนของฉันทะโดยรวมที่มาก แต่ถ้าจะแปรไปในทางร้ายก็น่าจะมาจากส่วนของตัณหาโดยรวมที่มีน้ำหนักมากนั่นเอง ในทางกลับกันการดำเนินชีวิตของแต่ละคนควรจะมีความสอดคล้องกับบริบททั้ง 5 สิ่งนี้หรือไม่ อย่างไร เพื่ออะไร ท่านลองตึกตรองดู