การวางแผนและการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรพัฒนาและมีความยั่งยืน มีกลยุทธ์หลายรูปแบบปรากฎขึ้นในวงการบริหารจัดการเพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงนำไปใช้ประกอบการกำหนดกลยุทธ์ในการเผชิญกับคู่แข่งและสถานการณ์ทางธุรกิจ หนึ่งในนั้นคือกลยุทธ์การผูกขาด (Monopoly Strategy) ที่เรียกว่า กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม (Blue Ocean Strategy) เป็นแนวคิดที่มาจากนักวิชาการสองคนชื่อ W. Chan Kim และ Renee Mauborgne เป็นกลยุทธ์ที่ใช้สร้างและจับจองอุปสงค์ในตลาดใหม่ ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมทางคุณค่า (Innovating Value) ที่ล้ำหน้าจากสภาพการแข่งขัน พยายามพัฒนาสินค้าให้มีความแตกต่างหรือต้องสร้างความต้องการใหม่ๆ (New Demand) โดยองค์กรจะได้ผลลัพธ์จากการพัฒนากลยุทธ์นี้ทั้งความแตกต่างและต้นทุนต่ำ เนื่องจากพื้นที่ตลาดได้ถูกสร้างขึ้นใหม่และยังไร้ซึ่งการแข่งขัน
ลักษณะของตลาดที่ใช้กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม
- เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ได้มีอยู่ในปัจจุบันและไม่ทราบมาก่อนว่ามีอุตสาหกรรมประเภทนี้อยู่ด้วย
- สร้างอุปสงค์ใหม่ขึ้นมา ทำให้มีโอกาสเติบโต และมีสัดส่วนกำไรที่มาก
- ไม่มุ่งเน้นแข่งขันกับคู่แข่ง ไม่ปรียบเทียบกัน
- สามารถใช้ได้ทั้งกลยุทธ์ด้านราคาและสร้างความแตกต่างไปพร้อมกัน ซึ่งจะทำให้เกิดนวัตกรรมที่มีคุณค่า (Value Innovation)
- มองภาพใหญ่ โดยไม่มุ่งเน้นเรื่องจำนวน และไม่ยึดติดกับผลการวิเคราะห์
- ใช้แรงจูงใจในการทำงานไม่ใช่แรงผลักดันจากรอบข้าง
หากพิจารณาในด้านการลงทุนกับความเสี่ยงจะพบว่ากลยุทธ์นี้จะเหมาะกับธุรกิจที่มีการลงทุนต่ำ (Low Investment) ด้วยความที่เป็นตลาดใหม่ และการรับรู้ความเสี่ยงในระดับต่ำ (Low Perceived Risk) เพราะคู่แข่งน้อยหรืออาจไม่มีเลยทำให้ธุรกิจไม่มีความกังวลต่อความเสี่ยงที่มีอยู่ในตลาด